Spread the love

1 min read

เงินสำรองฉุกเฉิน ตัวช่วยเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่น ๆ

นับเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดกำลังเกิดขึ้นกับคนทำงานและเจ้าของธุรกิจ เมื่อไวรัสมหันตภัย Covid-19 พ่นพิษจนบอบช้ำไปทุกวงการ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก การว่างงานเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้หลายคนต้องนำเงินสำรองฉุกเฉินที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ประคองชีวิตไปก่อนพลาง ๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

แต่เป็นความโชคร้ายของคนธรรมดาสามัญอีกแล้ว เพราะจากการสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่มีเงินออมพอที่จะใช้จ่ายไม่ถึง 3 เดือน ด้วยก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น เศรษฐกิจก็จัดว่าแย่อยู่แล้ว เพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหา เราจะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินสำรองในยามฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นพระเอกของเราในวิกฤตครั้งนี้

ทำไมถึงต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน?

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน” หมายความว่าต่อให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตแค่ไหน ความโชคร้ายจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็ยังสามารถเล่นงานเราได้อยู่ดี เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต การสำรองเงินไว้เพื่อยามฉุกเฉินมีจุดมุ่งหมายให้เรามีเงินออมไว้ใช้จ่ายสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ ค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคภัยที่ไม่คาดฝัน ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตสามารถเดินต่อไปได้แบบไม่สะดุด หรืออย่างน้อยก็จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


เงินออมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ?

ไม่มีตัวเลขตายตัวสำหรับจำนวนเงินที่คุณต้องมีในยามวิกฤต เพราะแต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขต่างกัน จำนวนคนในครอบครัวก็ไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปนักการเงินจะแนะนำให้สำรองเงินไว้ราว 6 เดือน (ต่ำที่สุดคือ 3 เดือน) หมายความว่าใน 6 เดือนนี้คุณจะยังใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติได้แม้จะไม่มีรายได้เข้ามาเลย แล้วใช้เวลานั้นแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ แล้วจึงค่อยเริ่มสะสมเงินออมก้อนใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย เช่น ในกรณีโรคระบาด ขั้นต่ำอาจจะต้องตั้งไว้นานกว่า 6 เดือน เพราะปัญหาอาจไม่จบลงง่าย ๆ


สำหรับคนทำงานทั่วไปจะเก็บเงินออมอย่างไรดี?

การตกงานหรือไม่มีงานให้ทำเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องฟันฝ่ามันไปให้ได้ ไม่ว่าคุณจะทำงานรับเงินเป็นรายวัน รายเดือน หรือเป็นรับเป็นชิ้นงาน การออมเงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ต้องทำ ด้วย 3 วิธีง่าย ๆ คือ

  1. กำหนดงบประมาณ – ขั้นแรกของการออมเงิน คุณควรจะรู้ก่อนว่าค่าใช้จ่ายของคุณมีอะไรบ้าง และในแต่ละเดือนควรจะมีเงินเหลือให้เก็บเท่าไหร่ การเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้เห็นชัดว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็น สละเวลาสักนิด ชีวิตจะดีขึ้น
  2. ตั้งเป้าหมายว่าจะออมเงินแล้วลงมือทำ – ด้วยพฤติกรรมการใช้เงินของคนทั่วไป เราแทบไม่มีทางมีเงินเก็บถ้าไม่คิดจะเก็บเงิน เราจึงต้องตั้งเป้าไว้ก่อนเลยว่าจะออมเท่าไหร่ในแต่ละเดือน อาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ สัก 10% ก่อนก็ได้ จะได้ไม่ลำบากต่อกระแสเงินสดจนเกินไป
  3. ปรับเปลี่ยนแผนการเมื่อได้เวลา – เมื่อเวลาผ่านไป หน้าที่การงานของคุณอาจดีขึ้น ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น หรือคุณได้สร้างนิสัยแห่งการประหยัดขึ้นแล้ว ขั้นต่อไปคุณอาจปรับให้ตัวเองสะสมเงินออมมากขึ้นกว่าเดิม หากเริ่มมีมากก็ควรนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยต่อไป


ธุรกิจไม่ง่าย กระแสเงินสดเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เงินสำรองฉุกเฉิน

ภาคธุรกิจเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะเมื่อไม่มีงานเข้ามาแต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องแบกรับ ซึ่งก็ไม่ใช้ตัวเลขน้อย ๆ เลย นอกเหนือจากที่เราจะนำแนวคิดบริหารการเงินพื้นฐานมาปรับใช้แล้ว ยังมีส่วนที่คุณทำได้อีก ได้แก่

  1. ประเมินแผนงบประมาณ – ธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ควรมีการจัดทำบัญชี ตัวเลขบัญชีจะแสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของบริษัท สภาพคล่อง แนวโน้มของกำไร ฯลฯ ปรึกษากับฝ่ายการเงินเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าว่าหากมีวิกฤตเกิดขึ้น เราจะต้องรับมืออย่างไร และจะอยู่แบบมีรายได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีเลยได้นานเท่าไหร่
  2. ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด – ถืออะไรก็ไม่มั่นใจเท่าถือเงินสด ธุรกิจจะล้มหรือไม่กระแสเงินสดมีความสำคัญอย่างมาก ธุรกิจจึงต้องมีเงินสดเตรียมไว้รองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด เชื่อหรือไม่ว่ากว่าร้อยละ 80 ของธุรกิจที่ล้มเหลวล้วนเกิดจากการขาดสภาพคล่อง อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นหนึ่งในนั้น
  3. จัดทำแผนรองรับวิกฤต – ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะวางแผนเผื่อในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การเตรียมตัวล่วงหน้าจะทำให้เราไม่ตื่นตูม สามารถหันหัวเรือได้ทันท่วงทีและจะทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด เช่น ในช่วงที่เกิดไวรัสระบาด ร้านอาหารอาจหันมาทำส่งผ่านเดลิเวอรี่ โรงงานรถยนต์หันมาผลิตของใช้จำเป็นสำหรับการป้องกันรักษาโรค นี่จะช่วยให้กิจการมีรายได้ พอประคับประคองตัวไปได้บ้าง

สรุป

เงินสำรองฉุกเฉินมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเงินส่วนบุคคล และเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายสำหรับธุรกิจในเวลาที่สถานการณ์ไม่ปกติ ที่ขาดไม่ได้อีกสองสิ่งก็คือสติรู้คิดในการแก้ไขปัญหาและจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค จำใส่ใจเสมอว่าหากพายุผ่านพ้นไปได้ แสงอาทิตย์ที่สดใสย่อมจะรอคอยอยู่เสมอ

https://pixabay.com

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love