Spread the love

1 min read

ยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมี ในปี 2020

หากวันหนึ่งคุณเกิดปวดท้อง ปวดหัว เป็นไข้ กลางดึก คลินิกใกล้บ้านก็ปิดแล้ว สิ่งที่คุณสามารถหยิบขึ้นมาใช้บรรเทาอาการได้เป็นอย่างแรกเลยก็คือ ยาสามัญประจำบ้าน นั่นเอง แต่หลายคนอาจยังมีคำถามว่ายาสามัญประจำบ้านคืออะไร? มีอะไรบ้าง? เรามาหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย

คลายข้อสงสัย ยาสามัญประจำบ้านคืออะไร

ความหมายของยาสามัญประจำบ้านตามพระราชบัญญัติยา คือ ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน พูดง่าย ๆ ก็คือ จะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณก็ได้ มีจุดประสงค์เพื่อใช้รักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น

ยาสามัญประจำบ้านสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ บริเวณซองยา แผงยา หรือกล่องยา จะมีคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” เป็นตัวอักษรสีเขียวในกรอบสีเขียว

ยาสามัญประจำบ้านอะไรบ้าง ที่ควรมีไว้ที่บ้าน

หลังจากทราบความหมายกันไปแล้ว มาดูกันว่ายาอะไรบ้างที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เราควรมีติดบ้านไว้ โดยจะขอแบ่งเป็น 8 กลุ่มยา ดังนี้

1.ยาแก้ปวดท้อง ขับลม ลดกรด

1.1 ยาเม็ดหรือยาน้ำลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการจุกเสียด ปวดท้อง เนื่องจากมีกรดมากในกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยยานี้ต้องรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ หากเป็นรูปแบบยาเม็ดต้องเคี้ยวก่อนกลืน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น หากเป็นยาน้ำต้องเขย่าขวดก่อนรับประทานทุกครั้ง

1.2 ยาธาตุน้ำแดง ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง เนื่องจากจุกเสียด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ และช่วยขับลม แก้ท้องอืด ไม่สบายท้อง โดยรับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง และเขย่าขวดก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ยาเหล่านี้จัดเป็นยาที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น หากมีอาการรุนแรง เช่น กดเจ็บบริเวณท้องด้านล่างขวา มีไข้ และอาเจียนร่วมด้วย ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบ

2.ยาแก้ท้องเสีย

2.1 ผงน้ำตาลเกลือแร่ ใช้ทดแทนการเสียน้ำจากท้องร่วง อาเจียน วิธีรับประทานคือ ชงผงเกลือแร่ 1 ซองกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว ค่อย ๆ จิบแทนน้ำ ข้อสำคัญของการเลือกซื้อผงเกลือแร่คือ ต้องเป็นเกลือแร่สำหรับท้องเสียเท่านั้น หากรับประทานเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายนั้น จะทำให้ท้องเสียมากขึ้น

2.2 ผงถ่าน Activated charcoal ใช้รักษาอาการท้องเสียเช่นเดียวกัน โดยผงถ่านจะมีฤทธิ์ดูดซับสารพิษ และขับออกทางอุจจาระ ทำให้ช่วยลดอาการท้องเสียได้ โดยให้รับประทานครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อรับประทานยานี้แล้ว จะทำให้อุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของผงถ่าน ไม่ต้องตกใจ แต่หากรับประทานยาอื่นอยู่ด้วย ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร เพราะผงถ่านอาจดูดซับยาอื่นไปด้วย ทำให้ยานั้นออกฤทธิ์ได้ลดลง

ในระหว่างที่ยังมีอาการท้องเสียอยู่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานนม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด และควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หากมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ อาเจียน หรือมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

3.กลุ่มยาบรรเทาปวด ลดไข้

3.1 ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ยาสามัญประจำบ้านใช้ลดไข้ บรรเทาอาการปวด โดยในผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ยานี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากจำทำให้เป็นพิษต่อตับได้

4.กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก

4.1 ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine Maleate) ใช้บรรเทาอาการแพ้ ลมพิษ น้ำมูกไหล รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ยานี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน และยานี้อาจทำให้ง่วง ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานกับเครื่องจักร และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5.ยาแก้ไอ ขับเสมหะ

5.1 ยาแก้ไอน้ำดำ ใช้บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ในผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง เขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง และห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 3 วัน

6.ยาดมหรือทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก

6.1 ยาดมแก้วิงเวียนแอมโมเนียหอม หรือที่คุ้นเคยกันว่า “ฉี่อูฐ” ใช้สำลีชุบยา ดมเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ยานี้เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน

7.ยาใส่แผล ล้างแผล

7.1 ยาใส่แผลโพวิโดน – ไอโอดีน ใช้รักษาแผลสด โดยใช้สำลีชุบยาทาบริเวณรอบ ๆ แผล แต่หากมีอาการระคายเคืองเมื่อใช้ยา ให้หยุดใช้ยา ควรระวังไม่ให้ยาเข้าตา และยานี้เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน

7.2 น้ำเกลือล้างแผล ใช้เช็ดทำความสะอาดบาดแผล

7.3 เอทิล แอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์น้ำสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกัน ใช้ทำความสะอาดรอบ ๆ บาดแผล ใช้สำหรับภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน

8.ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย

8.1 ยาหม่อง ชนิดขี้ผึ้ง ใช้บรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ เนื่องจากแมลงกัดต่อย หรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทาและนวดบริเวณที่มีอาการ ห้ามรับประทานยานี้เด็ดขาด

เก็บรักษายาสามัญประจำบ้านอย่างไร ให้ยายังคงมีประสิทธิภาพดีที่สุด

ยาสามัญประจำบ้านแต่ละชนิดมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุผลของรูปแบบยา บรรจุภัณฑ์ วิธีที่ดีที่สุดคือการเก็บรักษายาตามที่ระบุข้างกล่องยา แต่โดยทั่วไปก็มีวิธีการเก็บรักษายา ดังนี้

1.เก็บยาในที่แห้ง ไม่ร้อน ไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะความชื้น ความร้อน จะทำให้ยาเสื่อมสภาพ เมื่อรับประทานแล้ว อาจจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

2.เก็บยาให้พ้นมือเด็ก ยาสามัญประจำบ้านส่วนใหญ่เป็นยาที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากยาบางชนิดหากรับประทานเกินจากขนาดที่กำหนดไว้ หรือใช้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องก็อาจเกิดอันตรายได้ และเด็กเล็กมีความเสี่ยงที่จะนำยามาเล่นได้ ดังนั้นจึงควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก

3.ตรวจสอบวันหมดอายุของยา ยาที่หมดอายุแล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ยา เพราะอาจสับสน หยิบผิดมารับประทานได้ การรับประทานยาหมดอายุก็เหมือนการรับประทานยาที่เสื่อมคุณภาพ ทำให้ไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ

ยาสามัญประจำบ้านนั้นมีความจำเป็นกับทุกบ้าน ไม่ว่าบ้านนั้นจะมีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือไม่ก็ตาม เพราะความเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ คำว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ยังคงถูกต้องเสมอ ดังนั้นเมื่อทราบว่ายาอะไรที่ควรมีติดบ้านไว้ เก็บรักษาอย่างไร เราก็พร้อมกับการจัดตู้ยาประจำบ้านของเรากันเลย

ภาพโดย: https://pixabay.com/

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love