Spread the love

1 min read

การเขียนบทความที่ดีเป็นยังไง

ส่วนประกอบของการเขียนบทความที่ดีมีดังนี้

– ชื่อเรื่อง (title)
– ส่วนเกริ่นนำ หรือคำนำ (introduction)
– ส่วนเนื้อเรื่อง (body) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนย่อยที่ 1 ปูพื้นฐานความรู้แก่ผู้อ่านในเรื่องที่เขียน
ส่วนย่อยที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูล โต้แย้งข้อเท็จจริง ใช้เหตุผล หลักฐานเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้อ่าน
ส่วนย่อยที่ 3 เสนอความคิดเห็น

– ส่วนสรุป (summary)
– เอกสารอ้างอิง ( references) / ข้อมูล (ถ้ามี)

ลักษณะของการเขียนบทความที่ดี

 

การเขียนบทความที่ดี ควรมีลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1. มีเอกภาพ กล่าวคือ เนื้อหาของบทความมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีทิศทางของเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อมุ่งสู่ประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ
2. มีการเน้นข้อความสำคัญ กล่าวคือ ผู้เขียนต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญให้ชัดเจนว่าต้องการนำเสนอแนวคิดสำคัญอะไร ด้วยประโยคใจความสำคัญ หรือสาระสำคัญที่โดดเด่น เนื้อความตลอดเรื่องควรกล่าวย้ำประเด็นหลักของเรื่องเสมอ ๆ
3. มีสัมพันธภาพ กล่าวคือ มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด ทั้งในด้านการเรียบเรียงถ้อยคำ ข้อความ และการจัดลำดับเรื่อง ทุกประโยคในแต่ละย่อหน้า และทุกย่อหน้าในแต่ละเรื่องต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้คำเชื่อมข้อความ ได้แก่ คำบุพบท เช่น กับ แต่ แด่ เพื่อ คำสันธาน เช่น และ รวมทั้ง ตลอดจน นอกจากนี้ คำประพันธสรรพนาม เช่น ที่ ซึ่ง อัน เป็นต้น
4. มีความกระจ่าง กล่าวคือ มีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา มีเนื้อความชัดเจนกระจ่างแจ้ง อธิบายได้ครอบคลุมความคิดหลักที่ต้องการนำเสนอ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หากเป็นความคิดเห็นต้องมีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ต้องมีความสมบูรณ์ด้านการใช้ภาษา คือ ต้องเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายการเขียน ประเภทของบทความ เนื้อหาบทความ และกลุ่มผู้อ่าน นั่นเอง

ลักษณะของการเขียนบทความที่ดี

ขั้นตอนการเขียนบทความ

1. การเลือกเรื่อง ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ  ดังนี้
– เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ เป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ โดยยึดแนวคิดที่ว่า ทันสมัย ทันเหตุการณ์
– เลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้ มีประสบการณ์ ตลอดจนเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเสนอความคิดแก่ผู้อ่าน
– เลือกเรื่องที่ผู้เขียนสามารถหาแหล่งค้นคว้า หรือหาข้อมูลมาสนับสนุนในงานเขียนได้เพียงพอ
– เลือกเรื่องที่มีความยาว ความยาก ความง่าย พอเหมาะกับความสามารถของผู้เขียน เวลาที่ได้รับมอบหมาย หน้ากระดาษ และคอลัมน์ที่ตนรับผิดชอบ

2. กำหนดจุดมุ่งหมาย โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เช่น ให้ความรู้ เสนอความเห็น โน้มน้าวใจ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิตและเขียนให้ใครอ่าน เช่น กลุ่มมวลชน กลุ่มผู้มีการศึกษาสูง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เป็นต้น

3. กำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นเรื่อง ต้องกำหนดว่าบทความเรื่องนี้จะเสนอแนวคิดสำคัญ หรือมีแก่นเรื่องอะไรให้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดถ้อยคำประโยคต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น

4. ประมวลความรู้ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ หรือการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้องให้เพียงพอที่จะเขียน

5. วางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้การเขียนเรื่องง่ายขึ้นและไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่สับสน ไม่กล่าวซ้ำซาก ไม่นอกเรื่อง

6. การเขียน ได้แก่
– การเขียนขยายความให้ข้อมูลในแต่ละประเด็น มีการอธิบาย ยกเหตุผลประกอบ กล่าวถึงข้อมูลประกอบ อาจเป็นสถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ ตำนาน นิทาน เป็นต้น
– เขียนคำนำและสรุปด้วยกลวิธีที่เหมาะสมกับประเภทของเนื้อหาบทความ
– การใช้ภาษา ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับจุดมุ่งหมาย การเขียน ประเภทและเนื้อหา
– การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว สามารถทำได้โดยการเลือกใช้ภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น การใช้ระดับภาษาปาก เล่นคารมโวหาร มีการแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน หรือมีการสร้างคำใหม่มาใช้อยู่เสมอ ๆ เป็นต้น

 

10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จของการเขียนบทความ

10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จของการเขียนบทความ

จุดประสงค์ของการเขียนบทความวิชาการที่ดี คือ สามารถถ่ายทอดข้อมูลมาสู่ผู้อ่านได้รวดเร็วและเข้าใจได้ง่าย มีผู้เขียนหลาย ๆ คนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพยายามเขียนบทความเป็นทางการมากเกินไป ดังนั้น จึงไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหา สาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายเท่าที่ควร ให้คุณลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. อย่าเป็นกังวล คนทุกคนเขียนบทความกันได้ทั้งนั้นหากจะไม่ไปกังวลมากเกินไป คนส่วนใหญ่มักกังวลว่าจะเขียนได้ไม่ดี กังวลว่าเขียนไปแล้วคนที่เรียนสูงๆ จะมาคอยจับผิด หรือกังวลว่าจะเขียนได้ไม่สมกับภูมิรู้ที่คุณมี จงทำใจให้ได้ว่าคุณเขียนบทความนี้เพราะเป็นเรื่องที่คุณมั่นใจว่าคุณรู้ คุณเข้าใจเป็นอย่างดี เขียนในเรื่องที่คุณมีประสบการณ์และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน อย่างน้อยที่สุดคุณได้ทำประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยเสนอข้อมูลที่คุณคิดว่าถูกต้องที่สุดออกมา จงเขียนในทำนองเดียวกับที่คุณพยายามจะอธิบายด้วยคำพูดให้ใครสักคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องนี้ฟังแล้วเขาสามารถเข้าใจได้

2. เลือกหัวข้อที่จะเขียน บทความที่ดี คือ การเขียนบทความที่สามารถอธิบายบางสิ่งบางอย่างที่ให้ประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่งแก่ผู้อ่าน เช่น ให้ความรู้รอบตัว ให้ความรู้ที่นำไปใช้งานได้ ให้แนวคิดที่น่าสนใจ เป็นต้น แต่ไม่ควรเป็นบทความที่เพียงตั้งใจแสดงว่าคุณมีความรู้สูงกว่าผู้อ่าน ดังนั้น ควรเลือกหัวข้อที่คิดว่าผู้อ่านจะสนใจและได้รับประโยชน์

3. วางแผนก่อนเขียน สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับนักเขียนมือใหม่ การเขียนบทความนั้นไม่ยากนัก แต่มักจะมายากเอาตรงที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร เพราะใจมัวแต่กังวลอยากจะเขียนทีเดียวให้ใช้ได้เลย กว่าจะเขียนบรรทัดแรกหรือย่อหน้าแรกได้แต่ละที คิดแล้วคิดอีก อะไร ๆ มักจะไปเรียบเรียงอยู่ในสมองก่อน การเริ่มต้นจึงดูยากเย็นแสนเข็ญ พลอยทำให้ไม่ได้เริ่มต้นสักที มีหลักการเริ่มต้นง่าย ๆ คือ ควรวางเค้าโครงหัวข้อย่อยต่าง ๆ ที่ต้องการจะเขียนลงในเศษกระดาษก่อน (ควรให้แต่ละหัวข้อ อยู่คนละแผ่นกระดาษ) ในแต่ละหัวข้อย่อยอาจจะมีใจความสำคัญที่ต้องการใส่ลงไป อาจเขียนออกมาเป็นท่อน ๆ คือ นึกถึงจุดสำคัญหรือประโยคสำคัญอะไรได้ ให้เขียนใส่ลงไปก่อน จากนั้นจึงค่อยมาจัดเรียงลำดับหัวข้อย่อยและประโยคสำคัญเหล่านั้นตามลำดับความต่อเนื่องที่ควรจะเป็น เช่น หัวข้อไหนควรอยู่ก่อนจึงจะอ่านเข้าใจง่าย ข้อสำคัญคือ ไม่ควรเอาส่วนปลีกย่อยขึ้นก่อน เพราะผู้อ่านจะเบื่อเร็ว ควรจะเอาหัวข้อที่กล่าวรวม ๆ ขึ้นมาก่อน แล้วเก็บหัวข้อที่เน้นรายละเอียดเอาไว้ทีหลัง อย่าลืมว่าเนื้อเรื่องต้องเรียงลำดับต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้อ่านลำดับความคิดและติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้น มาถึงขั้นนี้ก็เหลือเพียงแต่ใส่รายละเอียดลงไปในแต่ละหัวข้อ และเพิ่มคำนำในตอนต้นเรื่องสักหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว

4. ไม่ต้องเขียนรวดเดียวจบ ถ้าไม่ใช่นักเขียนอาชีพจริง ๆ แล้ว ยากที่จะเขียนให้จบรวดเดียวได้ ควรเขียนเพียงครั้งละ 1 หรือ 2 หัวข้อที่สำคัญก็พอ ควรเขียนแต่ละหัวข้อแยกกระดาษกันคนละแผ่น แล้วขยายแนวความคิดของแต่ละหัวข้อย่อยลงไปบนกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงตามลำดับหัวข้อ หัวข้อไหนที่ยากหรือยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรให้เก็บไว้ก่อน เขียนหัวข้อที่คิดว่าจะเขียนได้เร็วก่อน เขียนไปเขียนมาแล้วมักจะนึกออกเองว่าจะเขียนหัวข้อที่เหลือนั้นอย่างไร

5. เชื่อมโยงความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หลังจากเขียนเนื้อความของหัวข้อสำคัญ ๆ ไปแล้ว ให้จัดเรียงกระดาษตามลำดับหัวข้อที่ได้วางแผนมาก่อน ลองอ่านทานดูว่ายังขาดข้อความอะไรมาเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อเข้าด้วยกันหรือไม่ ถ้ายังขาดอยู่ให้เพิ่มข้อความหรือเพิ่มหัวข้อเข้ามาอีก โดยให้ข้อความของแต่ละหัวข้อสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ไปกันคนละเรื่อง ในการนี้อาจจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงประโยคในตอนต้นหรือตอนท้ายของแต่ละหัวข้อไปบ้างเพื่อความสอดคล้องกัน

6. ลงรูปที่จำเป็น กราฟ ตาราง โมโนแกรม หรือรูปประกอบ จะช่วยให้การอธิบายต่าง ๆ ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น และยังช่วยกระตุ้นความสนใจได้อีกด้วย แต่ละรูปควรมีคำอธิบายอยู่ใต้รูปด้วยว่าเป็นอะไร ใช้ทำอะไรหรือต้องการแสดงให้เห็นอะไร

7. ให้รูปและเนื้อหาสอดคล้องกัน ทุกครั้งที่ข้อเขียนอ้างถึงรูป ควรอ่านตรวจสอบด้วยว่า ข้อเขียนตรงกับข้อมูลในรูปหรือไม่ เช่น ในบทความเขียนว่าจากรูป 1 สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในช่วงสงกรานต์ ให้ตรวจสอบดูว่ากราฟในรูปที่ 1 แสดงอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่

8. ตรวจชื่อบทความและข้อความนำเรื่อง ถ้ายังตั้งชื่อบทความและเขียนข้อความในช่วงต้นๆเรื่องยังไม่เรียบร้อยดี ให้ย้อนกลับไปใหม่ ผู้เขียนบางคนอาจเขียนส่วนนี้ก่อน แต่บางคนสะดวกที่จะเขียนทีหลังสุด เพราะเขียนตอนแรกอาจจะยังนึกข้อความนำเรื่องไม่ได้ ตรวจดูชื่อบทความและข้อความนำเรื่องว่าชี้นำผู้อ่านหรือเปล่าว่า บทความนี้ช่วยเขาได้อย่างไร ให้ประโยชน์อะไรกับเขา ไม่ใช่ว่าต้องให้อ่านจนจบเรื่องก่อนแล้วจึงจะทราบว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร และถ้าเป็นไปได้ควรจะมีข้อความตัวโตๆ 1-2 บรรทัดโปรยอยู่ใต้ชื่อเรื่องเพื่ออธิบายคร่าว ๆ ว่า บทความนี้เกี่ยวกับอะไร เป็นการจูงใจให้ผู้อ่านสนใจอ่านมากขึ้น

9. แก้สำนวน ลองอ่านทบทวนบทความของคุณให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ดูว่าเนื้อหาตรงกับจุดมุ่งหมายหรือไม่ มีสำนวนที่อ่านแล้วกำกวมหรือไม่ มีศัพท์บางคำหรืออักษรย่อบางตัวที่ผู้อ่านจะไม่เข้าใจบ้างหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจ อาจขอให้เพื่อนสักคนหนึ่งซึ่งรู้เรื่องนั้นน้อยกว่ามาลองอ่านดูซิว่าเขาสามารถเข้าใจได้ตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ถ้าไม่ ลองหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

10. เขียนคำสรุป การเขียนไม่จำเป็นต้องขึ้นหัวข้อย่อยว่า “สรุป” เพราะเมื่อใดที่เนื้อหาหมดหรือสิ้นสุดของบทความแล้ว ย่อมหมายถึงการสรุป การสรุปที่ดี ผู้เขียนอาจมีคำชี้ชวนให้ผู้อ่านคิด ให้ลองปฏิบัติ หรือเป็นการสรุปประเด็นสำคัญของเรื่องแล้วทิ้งท้ายให้ผู้อ่านคิดหรือสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากบทความต่อ

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมการเขียนบทความที่ดี

ข้อแนะนำเพิ่มเติมการเขียนบทความที่ดี

นอกเหนือจาก 10 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกหลายอย่างที่อาจจะช่วยให้บทความของคุณน่าอ่านยิ่งขึ้น และชัดเจนขึ้น ดังนั้น ก่อนจะส่งบทความไปไหนต่อไหน ลองกัดฟันอ่านทวนอีกครั้ง ว่ายังมีอะไรควรแก้ไขตามคำแนะนำต่อไปนี้อีกบ้างไหม

1. ตั้งชื่อบทความให้น่าอ่าน เป็นการเริ่มต้นที่จะสามารถดึงดูดผู้อ่าน ชวนให้ติดตามอ่าน การเริ่มต้นเขียนที่ดี ควรเริ่มกันตั้งแต่ชื่อบทความ แล้วตามด้วยข้อความย่อหน้าแรก และหัวข้อย่อยในบทความ ทั้งหมดนี้ควรจะบอกผู้อ่านได้ทันทีว่าบทความนั้นสำคัญอย่างไร น่าสนใจอย่างไร และจะให้ประโยชน์อะไร ลองดูตัวอย่างชื่อบทความเหล่านี้อาจจะช่วยคุณตั้งชื่อบทความได้บ้าง : วัยรุ่นกับปัญหาท้อง แท้ง ทิ้ง, วาระสุดท้ายของชีวิต : ศักดิ์ศรีที่พึงมี, รวยได้ไม่ต้องโกง, เอดส์มหันตภัยใกล้ตัว, ปฏิวัติความอ้วน, 100 เรื่องน่ารู้สู้คอเลสเตอรอล เป็นต้น

2. ไม่ควรให้ข้อความของแต่ละย่อหน้ายาวเกินไป ถ้ายาวมากไป สายตาผู้อ่านจะล้าเร็ว ยิ่งถ้ายาวมาก ๆ กว่าผู้อ่านจะอ่านจนจบได้แทบหมดความตั้งใจ โดยทั่วไปอาจถือเป็นเกณฑ์ได้ว่าแต่ละย่อหน้าไม่ควรยาวเกินกว่า 15 ถึง 20 บรรทัด ถ้าเขียนบทความเสร็จแล้วพบว่ามีท่อนใดที่ยาวเกินไปลองอ่านทานดูซิว่ามีช่วงใดที่พอจะตัดตอนให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ได้หรือไม่

3. แบ่งเป็นหัวข้อย่อย ถ้าบทความยาวพอสมควร ควรแบ่งเป็นหัวข้อย่อย เพื่อให้ผู้อ่านได้พักสายตาเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้หัวข้อย่อยยังช่วยให้มีจุดสนใจขึ้นมาเป็นช่วง และช่วยให้ผู้อ่านกวาดสายตาหาท่อนหรือเนื้อหาที่เขาสนใจได้เร็วขึ้น ในกรณีที่ต้องการผ่อนคลายความจริงจังของบทความ หรือความเครียดของผู้อ่านลง อาจจะตั้งชื่อหัวข้อย่อยให้ดูน่าอ่านขึ้น โดยถือเอาข้อความใดข้อความหนึ่งในหัวข้อนั้น มาตั้งเป็นชื่อหัวข้อย่อย หรืออาจตั้งชื่อหัวข้อย่อยในลักษณะของคำถามเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน

4. ขีดเส้นใต้หรือทำตัวเข้มที่ข้อความที่ต้องการจะเน้น แต่ไม่ควรเน้นมากเกินกว่าที่จำเป็นจริง ๆ มิฉะนั้นผู้อ่านจะรู้สึกรำคาญ

5. ใช้ศัพท์เทคนิคเท่าที่จำเป็น และพยายามใช้ภาษาอังกฤษให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เขียนมาย่อหน้าหนึ่งมีแต่ภาษาอังกฤษ ศัพท์เทคนิคคำใดแปลเป็นภาษาไทยได้ ให้แปลไปเลย เช่น Air Conditioner ให้แปลว่า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แต่ถ้าแปลแล้วไม่แน่ใจว่าผู้อ่านจะเข้าใจได้ถูกต้องควรวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วย ยกเว้นไม่สามารถจะแปลเป็นภาษาไทยได้ ให้ทับศัพท์เป็นภาษาไทยแล้ววงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไปอีกทีหนึ่ง เช่น Transducer อาจเขียนว่า ทรานสดิวเซอร์ (transducer) เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษสามารถอ่านได้รู้เรื่อง และเลียนคำอ่านภาษาอังกฤษได้ หากมีคำศัพท์ใดซ้ำควรวงเล็บเพียงครั้งเดียวในตอนแรก

6. ตีกรอบแยกส่วนเนื้อหา ถ้ามีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับบทความ แต่ไม่สามารถเชื่อมเข้าไปในบทความได้โดยตรง อาจแยกออกมาจากเนื้อเรื่องปกติได้โดยตีกรอบล้อมรอบเนื้อหาส่วนนั้นเอาไว้ ลองดูวารสารต่างประเทศจะพบทำนองนี้บ่อย

7. อย่าให้หวือหวามากเกินไป แม้ว่าการแทรกอารมณ์ขัน การใช้ศัพท์แสลง จะช่วยผ่อนคลายความเครียดขณะอ่านไปได้ แต่ไม่ควรใช้มากเกินไปจนบทความวิชาการกลายเป็นบทความทั่วไปที่ให้แต่ความสนุกอย่างเดียว

8. พยายามใช้คำธรรมดาง่าย ๆ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและยังคงความถูกต้องอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น มาแล้ว “….เราจะวัดความต่างศักย์ของสายไฟบ้านได้ 220 โวลต์….” ผู้อ่านอาจจะงงกับคำว่า “ความต่างศักย์” ซึ่งเป็นศัพท์วิชาการ ในกรณีเช่นนี้ควรใช้คำว่า “แรงดันไฟฟ้า” แทน เพราะจะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ดีกว่า

9. ใช้ประโยคที่กระชับ ไม่กำกวม พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ประโยคยาว ๆ ที่ดูยืดยาด และประโยคซ้อนประโยคที่อาจทำให้เข้าใจความหมายผิดไป

10. ให้เป็นเหตุเป็นผลตามลำดับที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น “….เนื่องจากสบู่นี้สีฟ้า ยอดขายจึงไม่ดีนัก” ผู้อ่านคงสงสัยแน่ ๆ ว่าสีฟ้ามีผลอย่างไร จึงทำให้ยอดขายไม่ดี ผู้เขียนควรให้เหตุผลเพื่อขยายความให้ชัดเจน

11. เนื้อหาใช้ เป็นปัจจุบันหรือไม่? ให้พิจารณาดูว่ามีข้อมูลใดที่อาจจะไม่เป็นจริงในปัจจุบัน เช่น ถ้าคุณเขียนบทความเกี่ยวกับดาวเคราะห์ในระดับสุริยะจักรวาล ต้องให้ข้อมูลใหม่ว่า ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ, วัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คุณต้องหาข้อมูลยืนยันให้มั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และเป็นปัจจุบัน การเขียนบทความไม่ควรใช้คำว่า ในปัจจุบัน  แต่ควรใช้การระบุเวลา เช่น ในปีพ.ศ. 2557

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ!

เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ

ติดต่อเราตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ!

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love