Spread the love

1 min read

เงินเดือน 15,000 แต่อยากลงทุน จัดสรรเงินอย่างไรดี

เงินเดือน 15,000 ใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้ คนรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญในเรื่องของการลงทุนและการเก็บออมเงินเพื่อการลงทุนกันมากขึ้น ในเมื่อมีแหล่งความรู้เรื่องการลงทุนให้เราศึกษาด้วยตนเองอยู่ทุกช่องทาง จึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำความเข้าใจและวางแผนการเงินได้ด้วยตนเอง เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ควรรีบสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตั้งแต่เริ่มแรกทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ปัจจุบันทางเลือกของการลงทุนนั้นมีหลากหลาย เช่น ลงทุนหุ้น ทองคำ สลากออมทรัพย์ เป็นต้น แค่เราเลือกวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับฐานรายได้และการใช้ชีวิต รับรองว่าในอนาคตเงินของเราต้องงอกเงยขึ้นมาอย่างแน่นอน วันนี้เราควรมาทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานการจัดสรรเงินและทางเลือกการลงทุนในแบบต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่ายมากที่สุด

เริ่มต้นจัดสรรการเงินเพื่อการลงทุน ภายใต้เงินเดือน 15,000

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์เงินเดือน นั่นคือเราจะมีรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอทุกเดือน สำหรับคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ ถ้าหากรู้จักใช้จ่ายอย่างระมัดระวังก็น่าจะพออยู่ได้ แต่ถ้าไม่วางแผนให้ดี งานนี้ก็อาจจะมีอาการทรัพย์จางในช่วงปลายเดือนได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานและยังไม่มีภาระหนี้สินใด ๆ อย่าเพิ่งรีบก่อหนี้เด็ดขาด! โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต เพราะนี่คืออุปสรรคแรกที่จะทำให้เราออมเงินได้ยากที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาได้รับเงินเดือนอย่าเพิ่งรีบดีใจจนลั๊ลลารีบเอาไปใช้จ่ายกันล่ะ ตั้งสติก่อนกดโอนกดจ่าย แนะนำว่าควรจัดสรรเงินเดือนออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ก่อน คือ

1.เงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละเดือนเราต้องมีค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว ฯลฯ อีกจิปาถะ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้แต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่เตือนก่อนแล้วนะว่าอย่าเพิ่งรีบก่อหนี้บัตรเครดิต เพราะอาจจะทำให้เราใช้จ่ายอย่างขาดสติ คุมตัวเองไม่อยู่ เพราะมีสิ่งของล่อตาล่อใจช่างเย้ายวนซะเหลือเกิน ดังนั้นเมื่อยังไม่ได้ก่อภาระหนี้สินใด ๆ ควรแบ่งเงินไว้ใช้จ่ายประจำวันให้พอดี ประหยัดอะไรได้ก็ควรประหยัด สมมุติลองคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ รวมค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว ประมาณ 60%-70% ของเงินเดือน 15,000 แต่นาทีนี้เราอยากให้ทุกคนใช้จ่ายแบบประหยัด ขอแนะนำให้คุมรายจ่ายที่ 60% ก็เท่ากับ 9,000 บาท ก็น่าจะพอใช่ไหม ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น

– ค่ากิน 3,000 บาท

– ค่าเดินทาง 3,000 บาท

– ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ซื้อเสื้อผ้า ของใช้ต่าง ๆ ฯลฯ 3,000 บาท

ซึ่งการแบ่งเงินแบบเท่า ๆ กันอาจจะดูง่ายที่สุด บางคนอาจจะปรับลดหรือเพิ่มได้ตามความจำเป็น เอาไปปรับใช้ได้เลยตามอัธยาศัย ถ้าบางวันอยากกินกาแฟแพง ๆ สักแก้วหรือไปกินบุฟเฟต์ชาบูบ้างก็ไม่ว่ากัน ทำงานมาเหนื่อยให้รางวัลตัวเองบ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ อาจจะลดเหลือ 2,000-2,500 แล้วนำเงินตรงนี้ไปออมเพิ่มก็ได้ เอาเป็นว่าปรับให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ อย่าเคร่งเครียดจนเกินไปจนทำให้เราใช้ชีวิตไม่มีความสุข

2.เงินออมเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน

หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเงินสำรองฉุกเฉินเป็นเงินที่ต้องเก็บเอาไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ตามหลักแล้วเราควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินครอบคลุมค่าใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือนอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป สมมติเรามีรายจ่ายตามข้อ 1 คือ 9,000 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่ากับ 9,000 x 6 = 54,000 บาท โดยเงินออมส่วนนี้ควรจะอยู่ที่ 10-15% ของรายได้ ยิ่งออมมากเราก็จะมีเงินเก็บเยอะ จึงคิดเงินออมส่วนนี้เป็น 15% เต็มที่ไปเลยก็แล้วกัน ซึ่งก็เท่ากับ 2,250 บาท คำนวณแล้วเราต้องเก็บเงินสำรองเป็นเวลาถึง 2 ปีเชียวนา กว่าจะได้เงินเท่ากับ 54,000 บาท ขอย้ำว่าเงินออมในส่วนนี้ไม่ควรนำออกมาใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นโดยเด็ดขาด และควรมีวินัยสูงในการออมเงิน เพราะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริง ๆ เราจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้โดยไม่ต้องเดือดร้อนหรือไปหยิบยืมใครไงล่ะ

3.เงินออมเพื่อการลงทุน

จากข้อ 1 และ 2 ด้านบนจะเห็นว่าเราจะเหลือเงินออมเพื่อการลงทุนอีก 3,750 บาท หรือคิดเป็น 25% ของรายได้ ตรงนี้แหละที่เราสามารถเอาเงินไปต่อยอดและวางแผนการลงทุนได้ ซึ่งช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมนั้นมีหลายช่องทางสำหรับมือใหม่หัดลงทุน เดี๋ยวเราจะพูดถึงรายละเอียดถัดไปให้ฟังกัน

การจัดสรรเงินนั้นไม่ยากเลยใช่ไหม แต่ว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องมีเงินออมสำรองฉุกเฉินส่วนหนึ่ง เป็นหลักประกันในยามที่เราขาดเงินสด เรียกว่าเป็นการเพิ่มสภาพคล่องอีกทางหนึ่ง ส่วนเงินออมเพื่อการลงทุนเรามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนคือออมเพื่อได้กำไร ออกดอก ออกผลให้ชื่นใจ ดังนั้นเรามีแผนการลงทุนแบบฉบับมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มต้นลงทุนมาฝากกันจ้า

ลงทุนหุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำอย่างไรให้เงินงอกเงย

ขอเกริ่นก่อนนิดนึงว่า เรามีเงินออมสำหรับการลงทุนเริ่มต้นไม่มากมายนัก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหวังผลเร็วว่าจะรวยทันใจ ว่องไวเหมือนถูกลอตเตอรี่ จากเงินออมเพื่อการลงทุนที่เราจัดสรรมาได้ตามข้อมูลด้านบน 3,750 บาทนี้ เราขอแนะนำว่าคุณสามารถแบ่งเงินไปลงทุนได้แบบใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแรกควรเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกแนะนำควรเริ่มลงทุนในกองทุนรวมก่อน

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือกองทุนที่เราสามารถลงทุนได้แม้มีเงินหลักพัน และมี บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำเงินของคุณไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายของกองทุนซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายหลาก แต่ในวันนี้เราจะขอเสนอข้อมูลโดยยกตัวอย่างกองทุนที่น่าสนใจมาให้เห็นแบบชัดเจนกันไปเลย

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

กองทุนนี้เป็นการจัดตั้งมาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างร่วมกัน เพื่อให้เป็นการส่งเสริมการออมระยะยาว และถือเป็นสวัสดิการของนายจ้างที่มีแก่ลูกจ้าง พูดง่าย ๆ ว่านายจ้างจะหักเงินของลูกจ้างไปจากเงินเดือนเรียกว่า “เงินสะสม” ในอัตราไม่น้อยกว่า 2% และสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ คุณจ่ายเงินสะสมไปเท่าไหร่ นายจ้างจะจ่าย “เงินสมทบ” ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง จนกระทั่งคุณลาออกหรือจนเกษียณอายุงานคุณจะได้รับเงินคืนทั้งหมด 100%

ขอยกตัวอย่าง เช่น ถ้านายจ้างกำหนดเพดานของเงินสะสมไว้ที่ 5% คุณเลือกให้หักเงินสะสมในอัตรา 5% ของรายได้ไปเลยเท่ากับ 750 บาท

ถ้าสมมุติเรางานครบ 5 ปีล่ะ จะมีเงินสะสมในกองทุน 45,000 บาท เงินสมทบของนายจ้างอีก 45,000  และสมมติว่าได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนรวมทั้งหมด 35,000 บาท รวมทั้งสิ้นเราจะมีเงินเก็บที่ 125,000 บาทตอนอายุ 28 ปี นับว่าไม่เลวเลยใช่ไหมที่มีเงินออมไว้หลักแสนก่อนอายุ 30 เชียวนา

มาถึงตรงนี้เงินที่เราจัดสรรไว้เพื่อการลงทุนด้านบน มีอยู่ 3,750 บาท ถูกหักเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป 750 บาท คงเหลือเงินออมเพื่อการลงทุนอีก 3,000 บาท แล้วเราจะเอาไปลงทุนอะไรต่อดีที่เริ่มด้วยเงินหลักพัน!

2.RMF

เป็นอีกกองทุนที่น่าสนใจสำหรับการออมระยะยาว และที่สำคัญเหมาะกับคนยังมีเงินลงทุนน้อย ๆ เพราะไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำในการลงทุน ตรงนี้เราจึงอยากแนะนำให้เจียดเงินมาออมสัก 1,000 บาท แต่จะต้องถือกองทุนอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ซื้อครั้งแรก และอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีในวันที่ขาย นี่เป็นการบังคับตัวเองไปด้วยว่าเงินกองนี้ถอนไม่ได้ ถ้าขายก่อนจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

RMF จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หากในอนาคตเรามีรายได้สูงขึ้นเราก็ซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก แต่สูงสุดปีละไม่เกิน 200,000 บาท และนับรวมกับกองทุนอื่น ๆ เช่น กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท เหมาะมากกับผู้ที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์แต่ไม่มีเวลาดูรายตัว เราสามารถให้กองทุนทำงานแทนเราได้

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เรายังเหลือเงินออมเพื่อลงทุนอีกตั้ง 2,000 บาท อ๊ะ ๆ อย่าเพิ่งหมิ่นเงินน้อยกันนะ เงินจำนวนนี้ก็ให้ผลตอบแทนได้ไม่เลวเลย แค่ใช้เวลาและใช้ใจพิสูจน์ ! ตอนนี้มีวิธีการลงทุนหุ้นแบบ DCA (Dollar Cost Average) มันคือโปรแกรมที่เอาไว้ซื้อหุ้นอัตโนมัติทุกเดือน เป็นการซื้อหุ้นในราคาถัวเฉลี่ยในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกครั้งและตั้งค่าให้ซื้อหุ้นแต่ละครั้งเป็นงวด ๆ ได้แล้วแต่เรา เช่น เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 25 เป็นต้น ว่ากันว่าโปรแกรมนี้สร้างมาเพื่อเอาใจมนุษย์เงินเดือนสายลงทุนมากเหมือนกัน

สุดท้ายสำหรับน้อง ๆ รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าเพิ่งน้อยใจกับรายได้ที่มี เห็นแล้วใช่ไหมว่าเงินเดือน 15,000 สามารถลงทุนได้จริง ถ้าอ่านจนจบหวังว่าจะพอมีกำลังใจลุกขึ้นมาเริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ ขอแค่อดทนในช่วงแรกของการลงทุนและมีวินัยมาก ๆ ยึดคติไว้ว่าทนลำบากก่อนดีกว่าแล้วไปค่อยสบายทีหลัง หากมีความตั้งใจจริง เงินลงทุนหลักพันนี่แหละที่จะกลายเป็นเงินก้อนโตในอนาคต เผลอ ๆ เอาไปต่อยอดลงทุนในแบบอื่นและสร้างประโยชน์กับตัวเราได้อีกมากมายเลยล่ะ

เครดิตภาพ : https://pixabay.com

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love