Spread the love

1 min read

ทำความรู้จักไฮโดรโปนิกส์

ทำความรู้จักไฮโดรโปนิกส์

ผักไฮโดรโปนิกส์ คำนี้คงคุ้นหูกันดีและเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เคยทานกันมาแล้ว ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) หมายถึง การทำงานของน้ำ (สารละลายธาตุอาหาร) ผ่านรากพืช มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ Hydro แปลว่า น้ำ และ Ponos แปลว่า งาน ไฮโดรโปนิกส์เป็นวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินวิธีหนึ่ง แต่ใช้น้ำเพาะปลูกทำให้พืชเจริญเติบโตด้วยการเติมธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชลงในน้ำโดยตรง ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ทันทีเพราะมีการปรับค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity : EC) และ pH ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่ตลอดเวลา

ในประเทศไทยพืชที่นิยมปลูกด้วยระบบนี้คือ ผัก โดยเฉพาะผักที่มีราคาแพง  เนื่องจากต้นทุนการปลูกพืชด้วยระบบนี้ค่อนข้างสูง  การปลูกผักซึ่งอายุเก็บเกี่ยวสั้นสามารถทำรอบได้บ่อยจะช่วยลดต้นทุนได้  ผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกกันมากคือ ตระกูลผักสลัด  เช่น เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก คอส แต่ก็มีการนำผักกินใบชนิดอื่น ๆ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง  ผักโขม  มาปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์มากขึ้น เน้นจุดขายเป็นผักปลอดภัยจากสารพิษ เพิ่มตัวเลือกการขายผักไฮโดรโปนิกส์อีกทางหนึ่ง

ก่อนจะลงมือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เรามาทำความรู้จักกับระบบไฮโดรโปนิกส์แบบต่าง ๆ ที่ใช้กันมากในประเทศไทย เพื่อประกอบการตัดสินใจ

  1. NFT (Nutrient Film Technique) การปลูกโดยให้สารละลายธาตุอาหารไหลผ่านรากผักเป็นแผ่นบาง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นการให้สารละลายธาตุอาหารพืชไหลผ่านรากพืชที่ปลูกบนรางตามความลาดชันของรางปลูกอย่างช้า ๆ เป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ประมาณ 1 – 3 มิลลิเมตรพืชที่ปลูกได้ดีและนิยมปลูกในระบบนี้ได้แก่ผักกินใบจำพวกผักสลัดมีอายุยาวประมาณ 45 – 50 วัน
  2. DFT (Deep Flow Technique) การปลูกโดยให้สารละลายธาตุอาหารไหลผ่านรากผักในระดับลึก การปลูกผักโดยวิธีนี้เหมือนการปลูกแบบลอยน้ำซึ่งสามารถปลูกได้ดีในที่ที่มีแดดจัดโดยวิธีนี้จะมีช่องว่างระหว่างแผ่นปลูกกับสารละลายธาตุอาหารพืชประมาณ 3 – 5 เซนติเมตรเพื่อให้รากผักบางส่วนถูกอากาศและบางส่วนอยู่ในสารละลายธาตุอาหารพืชผักที่ปลูกได้ดีและนิยมปลูกในระบบนี้ได้แก่ผักไทย (ผักกินใบที่มีอายุสั้นประมาณ 20-30 วัน) เช่น ผักคะน้า  ผักบุ้ง ผักโขม
  3. DRFT (Dynamic Root Floating Technique) การปลูกโดยให้สารละลายธาตุอาหารและอากาศไหลวนผ่านรากผักในระดับลึกอย่างต่อเนื่องในถาดปลูก ระบบนี้พัฒนามาจากระบบ DFTโดยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศและสารละลายธาตุอาหารพืชผักที่ปลูกได้ดีและนิยมปลูกได้แก่ผักไทย

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่ใช้ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้น  ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นชุดสำเร็จรูป เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการขนาดเท่าไหร่ ปลูกผักอะไร ใช้ระบบปลูกแบบไหน ซึ่งเราสามารถนำมาประกอบ ทำระบบน้ำ และเพาะปลูกได้เอง  เพียงทำตามขั้นตอนที่อยู่ในคู่มือ  ราคามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น หรือเราจะซื้อเฉพาะปุ๋ย A ปุ๋ย B มาผสมปลูกผักเองโดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในบ้าน

ขั้นตอนพื้นฐานในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

  1. การเพาะเมล็ด หยอดเมล็ดพันธุ์ผัก 1-2 เมล็ดในฟองน้ำชิ้นเล็ก ๆ
  2. นำฟองน้ำใส่ถาด เติมน้ำธรรมดาลงในถาดให้สูงประมาณ 1 เซนติเมตร อย่าให้โดนแดด
  3. เมื่อผักงอกครบ 3 วัน ให้นำถาดออกแดดช่วงเช้าให้ผักได้รับแสง
  4. เมื่อผักงอกครบ 7 วัน ให้ย้ายลงไปยังรางปลูก
  5. เริ่มให้ปุ๋ย A ปุ๋ย B ตามสูตร ขึ้นกับชนิดของผักและระบบน้ำที่ใช้
  6. ตรวจเช็คระบบน้ำ ค่า pH  ค่า EC ของปุ๋ยตลอดระยะเวลาการปลูก ปรับให้ตรงตามสูตรตามความต้องการของพืช
  7. หลังครบอายุของผัก (20 – 45 วัน ขึ้นกับชนิด) สามารถนำไปบริโภคได้ แต่ก่อนเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์ 1 – 2 วัน ต้องเปลี่ยนจากน้ำปุ๋ยเป็นน้ำธรรมดา เพื่อลดการตกค้างของสารเคมี

ในช่วงเริ่มต้นเราควรทดลองปลูกจากขนาดเล็ก ๆ ก่อน เพื่อฝึกมือ ฝึกสังเกตการณ์ทำงานของระบบและการเจริญเติบโตของผัก ตลอดจนโรคแมลงต่าง ๆ เมื่อเริ่มคล่องและเข้าใจแล้วค่อยขยายเพิ่มเติม

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love