1 min read
วางแผนการเงินให้ถูกไลฟ์สไตล์ เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณต้องรู้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรู้เรื่องของการวางแผนการเงินและการวางแผนการลงทุน เป็นวิชาสำคัญของชีวิต ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีสอนในห้องเรียนเป็นกิจลักษณะ แต่กลับเป็นสิ่งจำเป็นและส่งผลกับการประสบความเร็จในชีวิตของเราอย่างมาก ดังนั้นการหมั่นศึกษาความรู้ในวิชานี้้จึงเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ แต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง เพราะการวางแผนการเงินที่ดีก็ไม่ใช่ว่าเห็นคนนั้นว่าดีเห็นคนนี้ว่าควรก็ทำตาม แต่แผนการเงินนั้นควรมีหลักการที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ทางการเงินของเรา เลือกในแบบที่ใช่ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การวางแผนการเงินการลงทุนคืออะไร? สำคัญแค่ไหนที่ต้องมี?
การวางแผนการเงิน คือ การวางแผนจัดการรายรับ รายจ่าย การเก็บออม ต่อยอดการลงทุนให้งอกเงย รวมไปถึงประกันความมั่งคั่งในแบบต่าง ๆ เพื่อบริการจัดการทรัพย์สินของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีทิศทางเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน และไม่ลำบากเมื่อถึงคราวที่มีปัญหามาเยือน ชีวิตที่ปราศจากการวางแผนการเงินก็เหมือนกับคนที่เดินเท้าออกจากบ้านเพื่อไปที่ไหนสักแห่ง โดยหวังว่าจะโชคดีได้เจอกับรถบางคันใจดีที่จอดรับ แล้วนำพาไปส่งในสถานที่ดี ๆ สักแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะเกิดเรื่องราวแบบนั้นขึ้นมีน้อยมาก
แต่ในขณะเดียวกันชีวิตที่มีแผนการเงินที่ดีนั้น ก็เปรียบเหมือนการตั้งเป้าหมายถึงสถานที่ที่เราต้องการจะไปให้ชัดเจน เลือกวิธีการเดินทางให้เหมาะสม เตรียมรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอย่างรอบคอบ ก่อนจะออกเดินทางไปด้วยความสบายใจ และมั่นใจได้ว่าโอกาสที่เราจะเดินทางไปถึงเป้าหมายนั้นมีสูงมาก ดังนั้นหากจะถามว่าแผนการเงินสำคัญกับชีวิตของคนเราอย่างไร คงบอกได้เลยว่าสำคัญอย่างมาก เรียกได้ว่าคนที่มีแผนการเงินที่ดีคอยกำกับดูแล ก็เท่ากับประสบความสำเร็จในชีวิตไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ถึงตรงนี้แล้ว หากคุณสนใจที่จะลองทำแผนการเงินของตัวเองมาใช้บ้าง นี่คือ 4 ขั้นตอนเริ่มต้น สำหรับการสร้างแผนการเงินส่วนตัวง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพที่ใคร ๆ ก็ทำได้
1.จดบันทึกรายรับรายจ่ายโดยละเอียด
ก่อนจะเริ่มต้นกำหนดแผนการเงินส่วนตัว เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่เราจำเป็นต้องมีข้อมูลทั้งรายรับรายจ่ายอย่างรอบด้านของเราเสียก่อน ถือเป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ที่สำคัญ ซึ่งการจดบันทึกรายรับรายจ่ายของเราเป็นประจำนั้นนับเป็นนิสัยที่ดีมาก ๆ อย่างหนึ่ง นอกจากจะทำให้เรารู้ตัวว่าได้ใช้จ่ายอะไรไปมากน้อยแค่ไหน บางครั้งยังช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องในการใช้จ่ายของตัวเอง และรีบแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย
2.กำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวของชีวิต
คนแต่ละคนมีความชอบความฝันที่แตกต่างกันไป เรื่องของการตั้งเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเพาะในแต่ละบุคคล เป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เรากำหนดจำนวนเงินออมที่เหมาะสม และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจได้ง่าย ลองนั่งนิ่ง ๆ ทบทวนตัวเองว่าตัวคุณเองมีเรื่องอะไรที่ฝันใฝ่ตั้งใจเป็นพิเศษหรือไม่ โดยเป้าหมายการเงินที่เหมาะสมควรแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ
1) เป้าหมายระยะสั้น ที่เราต้องการทำให้สำเร็จในวันนี้ อาทิตย์นี้ หรือเดือนนี้ เช่น เก็บออมเงินเดือน 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อใช้ในการลงทุน ประหยัดเงินค่ารถโดยการนั่งรถสาธารณะไปทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เป็นต้น
2) เป้าหมายระยะกลาง คือเป้าหมายที่อาจใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อทำให้สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบทำในทุกวันแต่ก็ไม่ได้ใช้เวลานานจนเกินไป เช่น ออมเงินบางส่วนเพื่อจ่ายค่าประกันชีวิตช่วงปลายปี ผ่อนซื้อสินค้าบางอย่างที่อยากได้เป็นเวลา 1-2 ปี เป็นต้น
3) เป้าหมายระยะยาว ที่อาจใช้เวลานานเพื่อจะทำให้สำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น การมีบ้านเป็นของตัวเองโดยการผ่อนชำระรายเดือนเป็นเวลา 20-30 ปี การเก็บออมรายได้บางส่วนอย่างมีวินัยทุกเดือนเพื่อใช้ในการศึกษาต่อปริญญาโท เป็นต้น
3.เลือกเครื่องมือการเก็บออมและการลงทุนที่เหมาะสม
เครื่องมือการเก็บออมและการลงทุนเป็นหัวใจสำคัญของการงอกเงยทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยสามารถแบ่งทรัพย์สินเพื่อใช้ในการลงทุนได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งเราสามารถเลือกเก็บออมและลงทุนในกลุ่มเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเองต่อไป ดังนี้
1) ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ – สำหรับมือใหม่ในการวางแผนการลงทุนที่ยังกลัวจะลงทุนพลาดจนเงินทองที่อุตส่าห์หามาลดหายไป การเริ่มต้นลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำอาจจะคำตอบ แต่การลงทุนชนิดนี้ถึงจะมีความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขการเบิกถอนที่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาตามสัญญาเสียงหน่อย และบางครั้งดอกเบี้ยที่งอกเงยอาจจะน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ดูจะเป็นเรื่องไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ที่จะเก็บออมกับทรัพย์สินในกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ เป็นต้น
2) ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนปานกลาง – กลุ่มทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงในการสูญเงินอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้ผันผวนมากจนคาดเดาทิศทางไม่ได้ มีโอกาสได้กำไรและขาดทุนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการที่ดี การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ดีเพื่อปล่อยเช่า เป็นต้น
3) ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง – สำหรับคนใจร้อนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขต่าง ๆ โดยเร็ว ชอบความโลดโผนท้าทาย และรับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูง การลงทุนแบบความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูงก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพียงแต่ต้องอาศัยการศึกษาหาความรู้และติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกตลอดเวลา เพื่อจะได้เลือกลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดได้ทันท่วงที การลงทุนลักษณะนี้ ผู้ลงทุนควรให้เวลากับการวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุมและมีไหวพริบที่พร้อมรับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่เสมอ การลงทุนลักษณะนี้ เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือการเล่นหุ้น การเทรดซื้อขายค่าเงินในตลาดโลก เป็นต้น
4.ประกันความมั่งคั่ง ตั้งแต่ยังมีโอกาส
หลังจากรู้ทั้งรายละเอียดรายรับรายจ่าย มีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน มีการกระจายลงทุนเพื่อต่อยอดทรัพย์สินของตัวเอง การทำประกันเพื่อรับมือกับเรื่องไม่คาดฝันต่าง ๆ ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความใส่ใจ โดยทั่วไปแล้วเราควรมีประกัน 3 ชนิด ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ
5.วางแผนลดหย่อนภาษีดี มีเงินเหลือเยอะ
เรื่องสุดท้ายที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องวางแผนการเงิน คือเรื่องของการจัดการกับการจ่ายภาษีประจำปี ซึ่งหากสามารถวางแผนจนสามารถลดขั้นบันไดในการจ่ายภาษีได้ ก็จะช่วยประหยัดเงินคืนได้เยอะเลยทีเดียว
ไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบนี้ ต้องใช้วิธีวางแผนการเงินแบบไหน?
หลังจากวางแผนการเงินการลงทุนได้อย่างรัดกุมแล้ว อีกเรื่องสำคัญที่พลาดไม่ได้คือการพิจารณาไลฟ์สไตล์การเงินของตัวเอง ว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษ ซึ่งหากเราให้ความสำคัญได้อย่างถูกจุด ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในแผนการเงินของเราได้อย่างมาก
1.ไลฟ์สไตล์แบบพนักงานประจำ
รูปแบบของไลฟ์สไตล์ที่สามารถวางแผนการเงินได้ง่ายที่สุด เพราะนอกจากจะมีรายรับที่เสถียรในแต่ละเดือน ยังมีวงจรชีวิตซ้ำไปมาอยู่ตลอด ทำให้ง่ายต่อการประเมินค่าใช้จ่ายและจัดสรรเงินตามแผนที่วางไว้ เทคนิคการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือนประจำ คือ
- กำจัด Late Effect ที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน
ลองพิจารณารายจ่ายของเราในแต่ละวันดู มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่เราก็ยังจ่ายมันไปบ่อยครั้งมาก เหมือนกับการซื้อกาแฟลาเต้ราคาแพงในทุกเช้า โดยหวังว่าจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใส แต่จริง ๆ แล้วหากเลือกกินกาแฟอื่นในราคาที่ถูกลง หรือเลือกทำกิจกรรมอื่นเพื่อเติมความสดชื่นให้กับตัวเองก็ทำได้เช่นกัน หากเราสามารถกำจัดค่าใช้จ่ายที่เป็น Late effect ของเราได้ ก็อาจจะช่วยประหยัดเงินได้อย่างที่คิดไม่ถึง
- ลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) ในหุ้นหรือกองทุนรวม
การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือการออมเงินบางส่วนเพื่อใช้ในลงทุนอย่างสม่ำเสมอในทุกเดือนกับหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีหลักการลงทุนที่ดี ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายรับเท่าเดิมในทุกเดือน เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ การลงทุนประเภทนี้อาจจะช่วยสะสมทรัพย์สินให้เราอย่างมหาศาลก็เป็นได้
2.ไลฟ์สไตล์แบบเจ้าของกิจการ
แม้การได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกิจการอาจจะฟังดูดีและมีรายได้สูง แต่ก็มีหลายเรื่องควรระวังที่พลาดไม่ได้เลยที่ต้องคำนึงถึงในแผนการเงิน
- แยกกระเป๋าส่วนตัวกับรายจ่ายของกิจการออกจากกันให้เด็ดขาด
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ พังไม่เป็นท่า คือการที่ผู้ประกอบการนำเอารายจ่ายของกิจการมาพัวพันกับรายจ่ายส่วนตัวอย่างอีรุงตุงนัง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากถึงมากที่สุดที่เจ้าของกิจการทั้งหลายพึงระวังเรื่องของการแยกกระเป๋าส่วนตัวออกมาให้ชัดเจน
- ประกันความเสี่ยงคือเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้
การเป็นเจ้าของกิจการนั้นต้องแบกรับความเสี่ยงมากมาย และเป็นตำแหน่งที่ถึงแม้จะมีรายรับค่อนข้างสูง แต่กลับหาความมั่นคงไม่ค่อยได้ ดังนั้นการประกันความเสี่ยงต่าง ๆ ให้รัดกุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วม ไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการต้องจัดการอย่างรอบคอบและให้ความสำคัญอย่างที่สุด
3.ไลฟ์สไตล์แบบฟรีแลนซ์
รูปแบบชีวิตที่ผาดโผนหาความแน่นอนไม่ได้ ทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย นับเป็นไลฟ์สไตล์ที่กำหนดแผนการเงินได้ยากที่สุด เทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการเงินได้ของมนุษย์ฟรีแลนซ์ มีดังต่อไปนี้
- กำหนดเป้าหมายรายได้ต่อเดือนให้แน่นอน
เป็นเรื่องจำเป็นที่ฟรีแลนซ์ควรกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ให้เป็นเป้าหมายระยะสั้นที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยรายได้ขั้นต่ำควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงเพียงพอสำหรับการเก็บออมต่อไป
- อย่าสร้างหนี้
แม้บางเดือนจะมีรายรับเยอะให้ใจชื้น แต่ด้วยลักษณะงานที่ไม่สามารถรับประกันรายได้ใด ๆ ได้เลย การสร้างหนี้ไม่ว่าจะได้รูปแบบใดก็ตามจึงเป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์ควรหลีกหนีให้ห่าง อย่างสร้างภาระทางการเงินโดยไม่จำเป็น
สรุป
เรื่องของการวางแผนการเงินเป็นทักษะสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตของคุณอย่างมาก เปรียบเหมือนการมีแผนที่ที่ชีวิตที่ดี การจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากวันนี้คุณเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อน วันนี้คงถึงเวลาแล้วที่จะลองหยิบปากกาสักแท่ง แล้วเริ่มต้นเขียนแผนการเงินที่เหมาะสมของตัวเอง ซึ่งเริ่มจากคำแนะนำที่เราได้ให้ไว้ได้เลย
ภาพโดย: https://pixabay.com/
ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ?
บริการเขียนบทความ
คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ!
เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย
บทความ SEO
ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ
ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ