Spread the love

1 min read

PM 2.5 ฝุ่นขนาดจิ๋ว ภัยเงียบที่มองไม่เห็น เมื่อรู้ตัวอีกทีก็เกือบจะสายเกินไปเสียแล้ว

PM 2.5 ชื่อที่ทุกคนได้ยินมานานเป็นปี โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่เรามักจะได้ยินชื่อนี้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มสงสัยแล้วว่ามันคืออะไรกันแน่ ร้ายแรงจนถึงขึ้นต้องให้ความสำคัญกันมากขนาดที่ไม่ว่าจะฟังข่าว ดูทีวี เปิดวิทยุ หรือเล่นโซเชียล ก็ต้องมีคนพูดถึง และหากคุณยังเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้จักฝุ่นร้ายนี้เพียงแค่ชื่อ ป้องกันบ้างไม่ป้องกันบ้างแล้วแต่โอกาส อยากให้คุณลองทำความรู้จักกับฝุ่นจิ๋วแต่พลังทำลายล้างไม่จิ๋วอย่างชื่อ คุณจะได้ไม่ต้องไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อโดนฝุ่นร้ายเล่นงาน โดยไม่ทันได้ป้องกันตัวเอง

PM 2.5 คืออะไรใครรู้บ้าง?

PM 2.5 ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters แปลว่า ละอองฝุ่นขนาดเล็ก ส่วน 2.5 ที่ต่อท้ายนั้นมาจากชื่อเรียกของฝุ่นประเภทหนึ่งที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหากให้จินตนาการถึงความเล็กของฝุ่นชนิดนี้คือมีขนาดเล็กมากกว่าเม็ดเกลือประมาณ 28 เท่า หรือเล็กกว่าเส้นผมถึง 25 เท่าเลยทีเดียว

และเมื่อฝุ่นขนาดเล็กชนิดนี้สะสมในอากาศเป็นจำนวนมาก จากฝุ่นที่มองไม่เห็นจะเริ่มมองเห็นเป็นกลุ่มหมอกควันบาง ๆ ลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อใดที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นับว่าวิกฤติและจำเป็นต้องแก้ไขแล้ว โดยที่เมื่อมีฝุ่นละอองในอากาศขนาดเล็กมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากฝุ่นเล็ก ๆ มักมีสารพิษ เช่น โลหะหนักเคลือบอยู่ด้วยเสมอ

เหตุใดฝุ่น PM 2.5 จึงสะสมและมีเยอะขึ้นในปัจจุบัน

PM 2.5 มีต้นกำเนิดมาจากหลายสาเหตุ หลัก ๆ มาจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์โดยมากกว่า 50% มาจากการเผาในที่โล่ง รองลงมาเป็นควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ควันเสียจากท่อไอเสียรถยนต์ การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และที่พักอาศัยตามลำดับ

โดยที่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครที่มีปัญหารถติด ฝุ่นจิ๋วจึงมักมาจากควันท่อไอเสียรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือการก่อสร้างตึกและอาคารต่าง ๆ ที่มีตลอดทั้งปี

แตกต่างจากในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน น่าน แพร่ ที่มักมีการเผาในที่โล่งแจ้งจำนวนมาก จึงทำให้ปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรง จนถึงขั้นต้องออกกฎหมายห้ามเผาออกมาเป็นช่วง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงจากฝุ่นพิษ อย่างไรก็ตามปัญหาไฟป่าที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจเผาก็ยังเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นชนิดนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้กระแสลมอ่อนยังทำให้ฝุ่นหมอกควันขังตัวอยู่ในพื้นที่ จนทำให้ถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อีกด้วย  ดังนั้นในช่วงที่ลมสงบปัญหาฝุ่นจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่มีกระแสลมพัดแล้วทำให้ปริมาณฝุ่นเบาบางลง


เราจะทราบได้ยังไงว่าบริเวณที่เราอยู่มีฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤตแล้ว

สามารถตรวจเช็คได้จากตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ที่ย่อมาจาก Air Quality Index ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

1. AQI 0 – 25 คือคุณภาพอากาศดีมาก มีสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้สบาย

2. AQI 26 – 50 คือคุณภาพอากาศดี มีสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ ยังสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

3. AQI 51 – 100 คือคุณภาพอากาศปานกลาง มีสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติได้ แต่หากเป็นผู้ที่เป็นภูมิแพ้หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว แนะนำให้ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นร่วมด้วย

4. AQI 101 – 200 คือคุณภาพอากาศแย่และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีสีส้มเป็นสัญลักษณ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น

5. AQI 201 ขึ้นไป คือคุณภาพอากาศแย่มากและมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีสีแดงเป็นสัญลักษณ์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องไม่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเลย หากจำเป็นมาก ๆ และต้องออกไปต้องใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัด

อันตรายที่แฝงตัวอยู่ในฝุ่น PM 2.5

ปกติร่างกายของเราจะสามารถกรองฝุ่นได้อยู่แล้ว แต่ด้วยฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก จนร่างกายไม่สามารถกรองและกำจัดออกได้ จึงทำให้ฝุ่นเดินทางจากจมูก หลอดลม เนื้อเยื่อปอดและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย จนเป็นพิษกับร่างกาย

ทำให้มีอาการเจ็บคอ แสบคอ แสบตา เลือดกำเดาไหล ไอรุนแรง มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก หอบหืด ลมพิษขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และป่วยบ่อย

ทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง โรคหลอดลมอักเสบ โรคมะเร็งปอด โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ทำให้มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากขึ้น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอาจต้องหยุดเรียน มีการยกเลิกเที่ยวบินในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจได้อีกด้วย

กลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

1.เด็ก เพราะฝุ่นนี้สามารถขัดขวางการเจริญเติบโตของปอด ทำให้เกิดโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง

2.หญิงมีครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์ แท้ง และทารกมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

3.ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว

การป้องกันที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง

1.งดกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงการออกกำลังกายนอกบ้าน

2.อยู่ภายในอาคาร ปิดหน้าต่างและปรับสภาพอากาศในบ้านให้บริสุทธิ์ เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น

3.ใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่กรองฝุ่นได้ 95% หรือ N99 ที่กรองฝุ่นได้ 99% เมื่อต้องออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน

4.รับประทานวิตามินซี วิตามินบี และคิวเท็น ที่ช่วยจับอนุมูลอิสระจากฝุ่น PM 2.5

5.รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

สรุป

เมื่อได้รู้จักกับฝุ่น PM 2.5 อย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นได้ว่าฝุ่นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เราจะละเลยได้อีกต่อไป เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั้นมีมากมาย ดังนั้นการป้องกันตนเองด้วยวิธีการที่แนะนำไว้ข้างต้นถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวของตัวคุณและคนที่คุณรัก

ภาพโดย: https://pixabay.com/

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ


Spread the love