1 min read
Covid–19 มียารักษาแล้ว? อัพเดตสถานการณ์ล่าสุดที่คุณไม่ควรพลาด
Covid-19 หรือโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโรคติดต่อผ่านทางทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ซึ่งกำลังระบาดไปทั่วโลก โดยโรคนี้มีอาการสำคัญได้แก่ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ และมีวิธีป้องกันตัวเองจากโรค Covid-19 ที่ยังคงได้ผลดี คือ ล้างมือบ่อย ๆ สวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม
สถานการณ์อัพเดตล่าสุดของ Covid–19
สถานการณ์ของ Covid-19 ในประเทศไทยล่าสุด (ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563) พบยอดผู้ป่วยสะสม 3,179 ราย หายป่วยแล้ว 3,059 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตคงที่ที่ 58 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 6 รายนั้น เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ
ถึงแม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สถานการณ์ในต่างประเทศยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศที่มีประกาศว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อได้แล้ว แต่กลับกำลังเผชิญการติดเชื้อระลอกที่สอง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
การควบคุมโรคระบาดที่ดี นอกจากการดูแลป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ หรือการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นแล้ว สิ่งสำคัญหากมีการติดเชื้อแล้วนั่นก็คือ การใช้ยารักษา Covid-19
แล้วยารักษา Covid–19 มีแล้วหรือยัง มีอะไรบ้าง?
ยารักษา Covid-19 ที่ใช้ในประเทศไทย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563) ได้แก่ Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์), Darunavir (ดารูนาเวียร์) รับประทานร่วมกับ Ritonavir (ริโทนาเวียร์), Lopinavir/ritonavir (โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์) ซึ่งยาทั้ง 3 ตัวนี้เป็นยารักษาการติดเชื้อไวรัสที่มีการใช้ในโรคอื่นอยู่แล้ว
ยาตัวแรกคือ Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) เป็นยาต้านไวรัสที่สามารถต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด จากการทดลองทางคลินิก พบว่าให้ผลดีในการรักษา และองค์การเภสัชกรรม ประเทศไทย กำลังมีการศึกษาและพัฒนายาตัวนี้ เพื่อทำการผลิตเองในประเทศไทย คาดว่าจะมีการเริ่มผลิตเพื่อศึกษาตัวยา และเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาในเดือนมกราคม 2564 และเริ่มผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วงต้นปี 2565
ส่วนยารักษาโควิดอีกตัวที่ผ่านการประเมินว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 ได้ดีนั้น คือยา Remdesivir (เรมเดซิเวียร์) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อต้านไวรัสโคโรนาและไวรัสอีโบลาโดยตรงอยู่แล้ว โดยกลไกของยานี้จะไปลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสในปอด ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ มีการทดลองใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 แล้วในบางประเทศ ซึ่งก็น่าจะมีผลดี และมีความปลอดภัย แต่ยังคงต้องทดลองกับผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้นต่อไป
ยารักษาโควิด-19 ที่กล่าวไปข้างต้นมีการใช้จริง และมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย Covid-19 ให้หายได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ก็ยังไม่มียาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคโควิด 19 ได้โดยตรง
ความหวังการป้องกัน Covid–19
การฉีดวัคซีนเป็นอีกหนึ่งความหวังในการป้องกันโรค Covid-19 นอกเหนือไปจากการใช้ยารักษา การฉีดวัคซีนนั้นเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้น ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ หรือมีการติดเชื้อขึ้นมา ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้น ๆ ทำให้สามารถต้านทานเชื้อนั้นได้ โดยที่เชื้อไม่สามารถก่อโรคได้
การพัฒนาวัคซีนหนึ่งชนิดนั้น จะต้องผ่านการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการ สัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ซึ่งมีถึง 3 ระยะ ก่อนที่จะนำมาใช้ได้จริง ซึ่งการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์นั้น มีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เช่น ดูว่าวัคซีนนั้นสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่ เมื่อฉีดไปแล้วจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนหรือไม่ หากเกิด เกิดอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งหากมีการข้ามขั้นตอนทดสอบวัคซีน เช่น ข้ามการทดลองในสัตว์ทดลองไป อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี วัคซีนที่ได้อาจมีฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควร
บริษัทยาขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำการทดลองในมนุษย์ว่า เมื่ออาสาสมัครได้รับวัคซีนเป็นเวลา 28 วัน ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดโรค Covid-19 ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนนั้น คือการเกิดไข้ ซึ่งเป็นการเกิดในบางราย ดังนั้นจากผลการทดลองวัคซีนดังกล่าวนี้จึงให้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าวัคซีนชนิดนี้อาจผลิตเพื่อจำหน่ายได้ภายในปลายปี 2563 นี้
ส่วนอีกวิธีที่อาจเป็นความหวังในการป้องกัน Covid-19 คือ การสกัดเอาภูมิคุ้มกันจากน้ำเหลืองหรือเลือดของผู้ป่วยที่หายจาก Covid-19 แล้วมาผลิตเป็นวัคซีนชนิดที่เป็นการรับภูมิคุ้มกันจากผู้อื่นมาโดยตรง ไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างเอง จากการทดลองในเบื้องต้น พบว่าสารสกัดภูมิคุ้มกันที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์แล้ว สามารถใช้ได้ผลในห้องปฏิบัติการ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถใช้ได้ปลอดภัยในมนุษย์
โดยสรุปแล้ว โรคโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงก็จริง แต่ก็ยังสามารถเบาใจได้ เนื่องจากมีทางในการรักษา โดยใช้ยารักษา Covid-19 ที่เป็นยาต้านไวรัสชนิดต่าง ๆ และวัคซีนต้านไวรัสที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และพัฒนาวิจัย ดังนั้นในขณะที่กำลังรอวัคซีนที่เป็นความหวังในการป้องกันโรค ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ Covid-19 กลับมาระบาดซ้ำในประเทศไทยอีก
อ้างอิง
1.กรมควบคุมโรค
2.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข โดย คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ (คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
Credit : https://pixabay.com
ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ?
บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ!
เพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับในหน้าแรก ด้วย บทความ SEO ที่มีคุณภาพ ติดต่อเราเพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณวันนี้