‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ตัวช่วยเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่น ๆ
‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ตัวช่วยเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่น ๆ นับเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดกำลังเกิดขึ้นกับคนทำงานและเจ้าของธุรกิจ เมื่อไวรัสมหันตภัย Covid-19 พ่นพิษจนบอบช้ำไปทุกวงการ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก การว่างงานเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้หลายคนต้องนำเงินสำรองฉุกเฉินที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ประคองชีวิตไปก่อนพลาง ๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เป็นความโชคร้ายของคนธรรมดาสามัญอีกแล้ว เพราะจากการสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่มีเงินออมพอที่จะใช้จ่ายไม่ถึง 3 เดือน ด้วยก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น เศรษฐกิจก็จัดว่าแย่อยู่แล้ว เพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหา เราจะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินสำรองในยามฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นพระเอกของเราในวิกฤตครั้งนี้ ทำไมถึงต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน? เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน” หมายความว่าต่อให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตแค่ไหน ความโชคร้ายจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็ยังสามารถเล่นงานเราได้อยู่ดี เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต การสำรองเงินไว้เพื่อยามฉุกเฉินมีจุดมุ่งหมายให้เรามีเงินออมไว้ใช้จ่ายสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ ค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคภัยที่ไม่คาดฝัน ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตสามารถเดินต่อไปได้แบบไม่สะดุด หรืออย่างน้อยก็จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เงินออมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ? ไม่มีตัวเลขตายตัวสำหรับจำนวนเงินที่คุณต้องมีในยามวิกฤต เพราะแต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขต่างกัน จำนวนคนในครอบครัวก็ไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปนักการเงินจะแนะนำให้สำรองเงินไว้ราว 6 เดือน (ต่ำที่สุดคือ 3 เดือน) หมายความว่าใน 6 เดือนนี้คุณจะยังใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติได้แม้จะไม่มีรายได้เข้ามาเลย แล้วใช้เวลานั้นแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ แล้วจึงค่อยเริ่มสะสมเงินออมก้อนใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย เช่น ในกรณีโรคระบาด ขั้นต่ำอาจจะต้องตั้งไว้นานกว่า 6 [...]