Spread the love

1 min read

ร้อนนี้รับมืออย่างไรดี ให้ห่างไกลจากโรคฤดูร้อน

สำหรับฤดูร้อนของประเทศไทยจะเริ่มต้นฤดูกาลในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ในหน้าร้อนอุณหภูมิจะเฉลี่ยอยู่ที่ 19 – 38 องศาเซลเซียส และในวันที่ร้อนที่สุดอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งอุณหภูมิที่พุ่งสูงขนาดนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเราแน่นอน มาดูกันเลยดีกว่าว่า จะมีวิธีรับมือหน้าร้อนอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคฤดูร้อนได้บ้าง

โรคฤดูร้อนคืออะไร และใครเสี่ยงที่จะเป็นบ้าง

โรคฤดูร้อนเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส หากปล่อยให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากขนาดนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคดังนี้

1.โรคตะคริวความร้อน (Heat Cramp) คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่หน้าท้องและขา มีเหงื่อไหลท่วม หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระหายน้ำมาก สาเหตุของโรคเกิดจากการออกกำลังกายหนักเกินไป ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มากนั่นเอง

2.โรคเพลียความร้อน (Heat Exhaustion) อาการของโรคนี้คือ ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดหัว หน้ามืด ผิวซีดลง ความดันร่างกายต่ำลง เหงื่อออกมาก และหัวใจเต้นเร็ว สาเหตุเกิดจากร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก จากการที่อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 38 – 40 องศาเซลเซียส

3.โรคลมร้อน หรือโรคลมแดด (Heat Stroke) อาการที่แสดงคือ ไม่รู้สึกตัว มึนงง สับสน เพ้อ เซื่องซึม กล้ามเนื้อหดเกร็ง และอาจถึงขั้นหมดสติไป ซึ่งอาการสามารถรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการชัก ช็อค ไตล้มเหลว ปอดบวมขึ้นจากการคั่งของเหลว และเซลล์ที่ตับตาย สาเหตุเกิดจากร่างกายปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงมากไม่ทัน กลไกการควบคุมและระบายความร้อนล้มเหลว และการออกกำลังกายกลางแจ้งในบริเวณที่อากาศร้อนจัด

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โรคเบาจืด ป่วยเป็นไข้ ติดแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือผู้ที่เคยเป็นโรคลมร้อนมาก่อน ต่อมาคือกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวกับความร้อนได้ช้า และสุดท้ายกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานในโรงงาน ฯลฯ

หากพบผู้ป่วยที่เป็นโรคฤดูร้อน หรือแสดงอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรให้ความช่วยเหลือโดยการย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่ม นอนราบ ยกขาสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม และระบายความร้อนด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น จากนั้นรีบติดต่อรถพยาบาล หรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด

หลีกเลี่ยงโรคฤดูร้อนได้ ด้วยการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล

โรคฤดูร้อนสาเหตุหลักเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป และไม่สามารถปรับสมดุลให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดได้ ดังนั้นเรามาดูกันเลยว่า จะมีวิธีดูแลสุขภาพหน้าร้อนวิธีใดบ้าง ที่จะช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล และหลีกเลี่ยงโอกาสการเกิดโรคที่จะเป็นในฤดูร้อนได้

1.เลือกทานอาหารที่ช่วยดับร้อน คือ ผัก ผลไม้ และเครื่องดื่มมากมายที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น และดับร้อนได้ เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว บวบ ฟัก แตงกวา ตำลึง และผลไม้ ได้แก่ แตงโม ส้ม แก้วมังกร ชมพู่ แคนตาลูป มังคุด ส่วนเครื่องดื่มก็มีทั้ง น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ น้ำอัญชัน น้ำมะพร้าว น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก หรือเพียงแค่น้ำเปล่า ก็ช่วยให้สดชื่นได้มากเลยทีเดียว

2.เลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าซาติน จะช่วยระบายอากาศได้ดี และทำให้รู้สึกเย็นสบาย เลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อน เช่น สีขาว สีครีม เลี่ยงใส่สีดำ หรือสีเข้ม เพราะเสื้อผ้าสีอ่อนจะดูดซับแสงได้น้อยกว่าสีเข้ม และที่สำคัญควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่สวมสบายไม่รัดรูป

3.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนควรสวมหมวก หรือกางร่มป้องกันแสงแดด และพกผ้าเย็นไว้เช็ดตามจุดชีพจรร่างกาย นั่นคือ คอ ข้อมือ และข้อพับ จะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีทีเดียว

4.อาบน้ำ หรือแช่เท้าในน้ำเย็น การดับร้อนด้วยการอาบน้ำเป็นวิธีที่ง่ายและเห็นผลได้ดีทีเดียว เพราะสามารถช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย และคลายร้อนได้ดีมาก ๆ หรือเพียงแค่ลองแช่เท้าในน้ำเย็น แค่นี้ก็ช่วยให้ร่างกายได้คลายความร้อน และรู้สึกสดชื่นขึ้นทันทีได้แล้ว

สภาพอากาศที่ร้อนจัดสามารถส่งผลให้เกิดโรคฤดูร้อนได้ แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการไม่ออกไปอยู่กลางแจ้ง หรือสถานที่ที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานานเกินไป เลือกทานอาหารที่ช่วยดับร้อน สวมเสื้อผ้าใส่สบาย และระบายอากาศได้ดี หากรู้สึกว่าร่างกายเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น สามารถคลายความร้อนด้วยการเช็ดตัวด้วยผ้าเย็น อาบน้ำ หรือแช่เท้าในน้ำเย็น เพียงเท่านี้เราก็สามารถรับมือกับหน้าร้อนในประเทศไทย และยังลดโอกาสการเป็นโรคฤดูร้อนได้แล้ว

Credit ภาพ : Pixabay.com

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love