Spread the love

1 min read

รับมืออย่างไร? เมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์


เมื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในผู้สูงวัยลดลง และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น อัตราการเกิดลดลง เนื่องจากผู้คนหันมาคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเทรนด์รักสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงคนแก่เฒ่าวัยชรา ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น อัตราการตายของผู้สูงวัยลดน้อยลง รวมถึงอัตราการเกิดก็ลดน้อยลงเช่นกัน จนทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้บอกไว้ว่าในปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี จะมีมากถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ และจะทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 2574 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางสังคม พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรบ้างนั้น และเราต้องรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คืออะไร? สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อนเตรียมรับมือ

นิยามง่าย ๆ ของสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ก็คือ สังคมที่เต็มไปด้วยประชากรวัยเกษียณที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึงร้อยละ 20 หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง สังคมที่มีคนวัย 65 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมนี้โดยสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไทยยังถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Economy) ที่เผชิญสถานการณ์นี้ ถือเป็นความท้าทายที่อันตรายพอสมควรเลยทีเดียว

เมื่อจำนวนประชากรสูงวัยมีมากขึ้น และคนวัยสร้างงานลดน้อยลง ก่อให้เกิดการดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ประเทศมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง รายรับของรัฐบาลจะน้อยลงแต่รายจ่ายจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ด้วยกลุ่มผู้สูงอายุที่รัฐต้องแบกภาระไว้ สาธารณสุขที่ต้องมีอำนวยความสะดวกได้อย่างทั่วถึง สวัสดิการ ค่าครองชีพ เบี้ยคนชราที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว นี่ยังไม่รวมปัญหาสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยที่จะต้องตามมาอย่างแน่นอน

สิ่งที่ต้องรับมือและเผชิญเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

1.วางแผนการออม และการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลาย

ประเด็นนี้สำคัญ และต้องพึงกระทำเสียแต่เนิ่น ๆ แต่หากรู้ช้า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่เป็นไรเริ่มเสียแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย วางแผนการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ภาพที่เราอยากเห็น หรืออยากให้มันเกิด จำเป็นต้องมีปัจจัยใดมาขับเคลื่อนความฝันนี้หรือไม่ เงินออมต้องมีเท่าไหร่ถึงจะใช้ชีวิตช่วงวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระลูกหลาน

2.รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของวงการอาหารและยา

เมื่อจำนวนผู้สูงวัยในสังคมเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมในการรับประทานอาหารก็ต้องมีแนวโน้มปรับตัวไปตามทิศทางของผู้บริโภค อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนชราจะถูกคิดค้นออกมามากมายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ สินค้าออร์แกนิกจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยารักษาโรค ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ยากับผู้สูงวัยนั้นเป็นของคู่กัน ตลาดผู้ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคจะครึกครื้นกว่าที่เคยเป็นมาแน่นอน

3.เตรียมพร้อมด้านการดูแลรักษาพยาบาล

ที่ดินหรือพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลจะกลายเป็นทำเลทองที่คนหาจับจองกันมากขึ้น ไม่ใช่ย่านเศรษฐกิจการค้าอย่างในปัจจุบัน การศึกษาหลักสูตรดูแลผู้สูงวัยจะเปิดมากขึ้น เพื่อให้ลูกหลานหรือคนใกล้ตัวได้เข้าไปร่ำเรียนจนมีวิชาความรู้พอที่สามารถดูแลผู้สูงวัยในบ้านได้เองในเบื้องต้น

โรงพยาบาลศิริราชเล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวมากว่า 20 ปี จึงได้เริ่มเตรียมการโดยมีการส่งบุคลากรไปฝึกอบรมด้านการดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ รวมทั้งส่งบุคลากรไปศึกษาระบบต่าง ๆ ยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาผู้สูงวัยล้นเมืองเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำมาปรับใช้กับสถานการณ์เดียวกันนี้ในประเทศไทย และยังได้ก่อตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งศูนย์นี้ก็เพื่อผลิตกองทัพคนดูแลผู้สูงวัย ที่ไม่ว่าใครก็สามารถมาเข้าอบรมกับทางศูนย์ฯได้ ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงบุคลากรทางด้านสุขภาพ โดยจะทำการฝึกอบรมจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัยให้ทั่วถึงและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราทุกคนต้องร่วมใจกันเรียนรู้ ปรับตัว และเตรียมความพร้อมไปด้วย เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เราคงไม่อยากอยู่ในสังคมที่มีแต่สุขภาพกายที่ดี การดูแลรักษาและพัฒนาสุขภาพใจและสุขภาพสังคมก็เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันด้วย เริ่มเตรียมพร้อมเสียแต่วันนี้ เพราะสังคมที่เต็มไปด้วยคนสูงวัยนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน

เครดิตภาพ : https://pixabay.com

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love