Spread the love

1 min read

ผลข้างเคียง VS การแพ้วัคซีนโควิด-19 อาการแบบไหนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต?

ผลข้างเคียง VS การแพ้วัคซีนโควิด-19

จากข่าวหลากหลายแหล่งที่มา โดยเฉพาะหลังฉีดวัคซีนแล้วบางคนเสียชีวิต หรือบางคนเกิดอาการแพ้วัคซีน ทำให้หลายคนหันมาตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดความกังวลใจ หากไม่ฉีดจะรอดจากโรค COVID19 หรือไม่? แล้วถ้าหากฉีด จะมีความปลอดภัยมากแค่ไหน? ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกับวัคซีนกันเสียก่อน


วัคซีนโควิด
19 คืออะไร?

วัคซีน คือ สารชีวภาพที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ หากได้รับเชื้อเข้ามาสู่ร่างกายในอนาคต จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยวัคซีนโควิด-19 สามารถแบ่งได้หลัก ๆ ออกเป็น 4 ประเภทได้แก่

1.วัคซีนที่ผลิตจากกระบวนการตัดต่อสารพันธุกรรมของไวรัส (mRNA vaccines) เช่น Pfizer/ BioNtech, Moderna

2.วัคซีนที่ผลิตจากกระบวนการแทรกชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสเข้าไปในเซลล์ (Protein subunit vaccines) เช่น Novavax

3.วัคซีนที่ผลิตจากกระบวนการแทรกสารพันธุกรรมที่ใช้ผลิตโปรตีนของไวรัส COVID-19 เข้าไปในไวรัสที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ (Viral vector vaccines) เช่น AstraZeneca, Johnson and Johnson

4.วัคซีนที่ผลิตจากกระบวนการทำให้เชื้ออ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ (Inactivated vaccine) เช่น Sinovac, Sinopharm

สำหรับในประเทศไทย ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 วัคซีนที่ได้รับอนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีด้วยกันทั้งหมด 6 ยี่ห้อ โดยในขณะนี้มีวัคซีนเพียงแค่ 4 ยี่ห้อเท่านั้นที่พร้อมให้บริการได้แก่ Sinovac, AstraZeneca, Sinopharm และ Pfizer/ BioNtech (ยังไม่เปิดจองในประชาชนทั่วไป จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน) ส่วนอีก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ Moderna, Johnson and Johnson กำลังตามมาในอนาคต

อาการแพ้วัคซีนคืออะไร ?

จากกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ทำให้มีการใช้สารร่วมในการผลิตแตกต่างกัน ทั้งวัคซีนและส่วนประกอบอื่น ๆ ในวัคซีนที่เข้าสู่ร่างกายล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อร่างกายตรวจพบจะทำการสร้างสารขึ้นมาต่อต้านและพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอม จากกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมา

หากจะพูดให้เข้าใจได้โดยง่าย อาการไม่พึงประสงค์แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ผลข้างเคียง และการแพ้

1.ผลข้างเคียง คืออาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต คาดเดาการเกิดได้ มักหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน แต่อาจจะทำให้เกิดอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว สามารถจัดการได้ด้วยการรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การนอนหลับพักผ่อน, ยกเว้นการใช้แขนข้างที่ฉีด หรือการใช้ยาอื่น ๆ บรรเทาอาการ อาทิเช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด, ไข้, อ่อนเพลีย, วิงเวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น แต่ถ้าหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ไข้สูงลอย, ชัก ควรจะรีบกลับไปพบแพทย์ทันที

2.การแพ้ คืออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต คาดเดาการเกิดไม่ได้ โดยอาการแพ้มักมีอาการสำคัญ ได้แก่ ผื่น, หายใจลำบาก, แน่นหน้าอก, ตาหรือริมฝีปากบวม หากเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ทันที หรือรีบโทรแจ้ง 1669 ให้มารับตัวที่บ้าน

วัคซีนทุกชนิดมักจะมีอาการไม่พึงประสงค์ที่คล้าย ๆ กัน ตามที่กล่าวมาเบื้องต้น แต่อาจจะพบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่มีรายงานการเกิดได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การเจอลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca หรือ Johnson and Johnson แต่ทั้งนี้ ก็มีรายงานการเกิดไม่กี่เคส และยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน ว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนจริงหรือไม่ วัคซีนจึงมีประโยชน์มากกว่าโทษ

การเตรียมตัวฉีดวัคซีน

อาการไม่พึงประสงค์ ทั้งอาการข้างเคียงและอาการแพ้ไม่ได้เกิดกับทุกคน เพราะมีปัจจัยที่สามารถคาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้ ทั้งปัจจัยที่มาจากร่างกายของผู้ที่ได้รับการฉีดเอง และปัจจัยที่เป็นเรื่องของวัคซีน สิ่งที่ผู้จะเข้ารับการฉีดวัคซีนควรจะเตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้า ได้แก่

1.ศึกษาข้อมูลวัคซีนจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เช่น กรมควบคุมโรค, อย.

วัคซีนทุกชนิด ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน ยกตัวอย่างเช่น Pfizer/ BioNtech ได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนในประเทศไทย สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงช่องทางการจองวัคซีน ควรจะจองผ่านหน่วยงานที่เชื่อถือได้ อย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

2.ก่อนวันที่ต้องฉีดมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่พอเหมาะ, หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา, รับประทานยาประจำตัวตามเดิม ยกเว้นยาบางกลุ่ม เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ยังไม่มียาหรืออาหารเสริมใดที่ผ่านการรับรองในการป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนได้

3.แจ้งประวัติโรคประจำตัว หรือประวัติการแพ้ยา อาหาร สารเคมี ก่อนเข้ารับการฉีดทุกครั้ง

โรคประจำตัวหรือประวัติการแพ้ส่วนบุคคลทำให้แต่ละคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การเลือกฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่น Sinovac, Sinopharm อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากเชื้อไม่อยู่ในสภาวะที่ก่อให้เกิดโรคได้ และมีความปลอดภัยสูง

4.หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้วควรปฏิบัติตัวดังนี้

งดใช้แขนข้างที่ฉีด, พักผ่อนให้เพียงพอ, หากมีไข้หรือปวดศีรษะ ยาที่สามารถทานได้คือ ยาพาราเซตามอล ในขนาดที่กำหนดไว้บนฉลากยา

5.ไปฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้ตรงตามวันนัด

วัคซีนแต่ละยี่ห้อ จะมีระยะห่างระหว่างการฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Sinovac ระยะห่างระหว่างเข็มจะอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ ในขณะที่ AstraZeneca ระยะห่างระหว่างเข็มจะอยู่ที่ 10-12 สัปดาห์

ฉีดวัคซีนแล้วอย่านิ่งนอนใจ

ใช่ว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จะทำให้รอดจากการติดเชื้อ COVID-19 ไปได้ เนื่องจากวัคซีนต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนทุกยี่ห้อ ไม่มียี่ห้อใดเลยที่จะป้องกันโรคได้ 100% วัคซีนเพียงแต่ป้องกันความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตเท่านั้น ทั้งนี้สายพันธุ์ของไวรัสมีการปรับเปลี่ยนไปอยู่เรื่อย ๆ อาจทำให้วัคซีนไม่สามารถครอบคลุมการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในอนาคตได้

แม้ว่าวัคซีนอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ครบที่สุดที่จะทำให้รอดจากโรค COVID-19 ไปได้ ทั้งยังมีประโยชน์และโทษที่ต้องนำมาพิจารณารายบุคคล แต่ในขณะนี้วัคซีนยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันส่วนบุคคลในกรณีที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีด และนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในอนาคต

ทั้งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดในการที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน คือการทำสิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ให้ติดเป็นนิสัยประจำ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย, การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที, การเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร และสุดท้ายคือ การฉีดวัคซีน

เครดิตภาพ : Pixabay.com

เอกสารอ้างอิง

  1. https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210625092522986
  2. https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/
  3. https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/covid-19-vaccines/advice
  4. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/expect/after.html

ต้องการมืออาชีพช่วยเขียนบทความ? บริการเขียนบทความ คุณภาพสูง เน้นการปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและบริการของคุณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย บทความ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาของเว็บไซต์ของคุณ ติดต่อตอนนี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลของคุณ

นกเหยี่ยว

นามปากกา: นกเหยี่ยว (Falcon)

ความรู้คือปีกที่พาเราโบยบิน ความคิดคือท้องฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด จบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รักการเขียนและการศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ มีประสบการณ์การเขียนบทความกว่า 8 ปี เชี่ยวชาญในการเขียนบทความ SEO และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงบันดาลใจในการเขียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

LINE OA: @writerid


Spread the love